ใครๆ ก็รวยได้ ถ้าเริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้
บรรดาคนรวยมีความเป็นมาที่ต่างกัน แต่พวกเขามีความเชื่อและทำอะไรบางอย่างที่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหากเราเข้าใจกฎเหล่านี้และนำไปปรับใช้ เราก็จะรวยขึ้นได้ สิ่งแรกที่ต้องรู้ คือ คำว่ารวยหรือมั่งคั่ง สำหรับเราคืออะไร เพื่อให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน บางคนอาจจะมีตัวเลขในใจว่าต้องมีเงินกี่บาท ส่วนบางคนอาจว่าตราบใดเงินที่เราจ่ายออกไป น้อยกว่าเงินที่เราได้รับเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกัน ก็มีความสุขแล้ว นอกจากนี้ เราต้องสำรวจว่า ณ ปัจจุบันเรามีเงิน หนี้ รายรับและรายจ่ายเท่าไร เพื่อที่จะได้วางแผนให้ชัดเจนว่าเราจะรวยเมื่อไหร่ อย่างไร (โดยไม่ต้องทำผิด) และเมื่อรวยแล้วจะนำเงินไปทำอะไร

เงินไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย เข้าใจคอนเซ็ปต์ของเงิน
เราต้องเชื่อว่าเงินเป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งที่โอเค และเราต้อง “ทำงานหนัก” เพื่อให้ได้เงินมา การมีเงินไม่จำเป็นต้องเสียสละบางอย่างเสมอไป เช่น เวลากับครอบครัว เราสามารถมีเงินและมีเวลาให้ครอบครัวได้ นอกจากนั้น เราต้องเข้าใจเรื่องดอกเบี้ยทบต้น เงินจะทำให้เรามีเงินมากขึ้น แต่เงินไม่ใช้ทางออกของปัญหา เปรียบเงินเป็นเพียงน้ำมันที่หล่อลื่นล้อ ไม่ใช่เครื่องยนต์ และการที่เราจะรวยได้เราต้องมีพฤติกรรมแบบคนรวย เช่น เลือกอ่านหนังสือพิมพ์หน้าธุรกิจและการเงินก่อน เราสามารถศึกษาประวัติ การใช้ชีวิต รวมถึงการลงทุนและการออมเงินของคนรวยจากการพูดคุยกับพวกเขา หรืออ่านบทสัมภาษณ์/อัตชีวประวัติของพวกเขา เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เรา

จัดการการเงินของตัวเองให้อยู่หมัด
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรารวยได้ คือ เราต้องลงมือทำ เริ่มจากการจัดการอุดรูรั่วทางการเงินของเรา (เงินที่เราต้องจ่ายเพราะความไม่รอบคอบของตัวเอง) ขยันและมุ่งมั่นในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพราะสักวันเราอาจจะโชคดี เงินหล่นทับได้ เราต้องทำงานหนักในช่วงแรกเพื่อให้มีเงินมากพอที่จะไม่ต้องทำงานหนักอีก และต้องไม่ลืมให้เวลากับเรื่องการเงิน มองภาพใหญ่ว่าเราจะปรับการทำงานของเราอย่างไรหรือมีช่องทางใดอีกนอกจากงานที่จะเพิ่มรายรับได้ เช่น ให้สินทรัพย์ของเราทำงาน หารายได้เสริมจากทักษะที่มี พยายามกระจายช่องทางการหารายได้เพื่อรองรับเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ต่างๆ แต่อย่าเชื่อโฆษณาที่บอกว่าจะทำให้รวยเร็วเป็นอันขาด เพราะคนที่รวยจะไม่ใช่เรา

รู้ซึ้งเรื่องการลงทุน
การลงทุนทำให้เรามีโอกาสได้รับเงินเล็กๆ น้อยๆ อย่างสม่ำเสมอและสิ่งที่เราลงทุนอาจจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่รับประกันว่าเราจะได้รับทั้งสองอย่างนี้ เราต้องรู้ว่าตนเองรับความเสี่ยงได้เท่าไร โดยอาจจะพิจารณาจากอายุ ภาระผูกพัน รายได้ และทรัพย์สินในปัจจุบัน เริ่มลงทุนตั้งแต่วันนี้ ไม่มีคำว่าสายเกินไป